กฏหมายใหม่บังคับให้ธนาคารส่งข้อมูลให้กับกรมสรรพากรแบบนี้จะทำยังไงกันดีล่ะ ?

มีประกาศที่กำลังจะผ่านออกมาเป็นกฏหมายเกี่ยวกับการกรองชื่อและยอดเงินพร้อมทั้งจำนวนครั้งของการรับเงินโอน (หรือฝากเงินผ่านเคาเตอร์) โดยถ้าหากว่าบุคคลธรรมดาคนไหนก็ตามที่เป็นคนไทยทั้งหมด ที่มีพฤติกรรมการรับเงินโอนเข้าบัญชีตรงตามเงื่อนไขต่อไปนี้ ทางธนาคารจะมีหน้าที่ต้องนำส่ง ชื่อสกุล ยอดเงินรวมที่รับโอนเงิน และจำนวนครั้งที่ได้รับโอนเงินเข้าบัญชี ไปยังกรมสรรพากร เพื่อให้ทางกรมสรรพากรทำการเอาชื่อไปตรวจสอบว่ามีพฤติกรรมการจ่ายภาษีแบบใดอยู่หรือไม่อย่างไร และ ถือได้ว่า มีความสุ่มเสี่ยงในการเลี่ยงภาษีหรือเปล่า ซึ่งทางกรมสรรพากรจะทำหน้าที่คัดกรองว่าจะมีการกระทำอะไรต่อไปหรือไม่ก็สุดแล้วแต่ตรรกะที่ทางกรมได้ออกแบบเอาไว้

เงื่อนไขที่ว่าจะมีอยู่สองเกณฑ์ด้วยกันก็คือ


เงื่อนไขหนึ่ง : หากคนหนึ่งๆมีข้อมูลเปิดบัญชีกับธนาคารหนึ่งๆแล้วได้รับเงินโอนจากคนอื่นหรือนิติบุคคลอื่นๆหรือแม้กระทั่งตัวเองก็ตาม (ไม่สนว่าเป็นใครอะไรทั้งสิ้น!) หากนับจำนวนครั้งรับโอนเงินได้ทั้งหมดเกินกว่า 3,000 ครั้งในรอบปีปฏิทินก็ถือได้ว่าจะต้องส่งข้อมูลให้กับกรมสรรพากร

เงื่อนไขสอง : หากคนหนึ่งๆเมื่อจำนวนครั้งการรับโอนเงินจากใครก็ตามรวมทั้งตัวเองมากกว่า 400 ครั้งและ พบว่ามียอดการรับโอนเงินมากกว่า 2,000,000 บาท (สองล้านบาท .-) ถือว่าเป็นเงื่อนไขที่ธนาคารก็ต้องส่งชื่อข้อมูลให้กับกรมสรรพากรเหมือนกัน โดยการนับนี้จะกระทำเป็นรายธนาคารไป

ย้ำอีกหน่อยน่ะครับว่า การนับไม่ว่าจะเป็นครั้งหรือยอดการรับโอนเงินนั้นจะมีการรวมกันเฉพาะในธนาคารเดียวกันทั้งหมดเท่านั้นทุกบัญชีที่เปิดในธนาคารเดียวกันก็จะถือได้ว่าเป็นข้อมูลที่นับรวมกันหมด แปลความอีกนัยหนึ่งก็คือ ถ้าหากว่าคุณรับโอนเงิน 2,900 ครั้ง โดยได้รับเงินครั้งละบาทในบัญชีใดๆก็ได้ของธนาคาร ก. (เท่ากับข้อมูลที่ธนาคารนี้รับรู้ก็คือ คุณมียอดเงินรับโอนเงิน 2,900 บาท และรับครั้งได้ทั้งหมด 2,900 ครั้งเท่านั้น) ทำให้ไม่ตรงกับทั้งสองเงื่อนไขเลยก็แปลว่า ธนาคาร ก. ไม่ต้องส่งข้อมูลอะไรให้กับกรมฯแต่อย่างใด หรือ อีกตัวอย่างก็เช่น ถ้าหากว่า นายใจดี ได้รับเงินโอนค่าหวยจากการเป็นยอดสุดของเจ้ามือหวยเถื่อนโดยมีลูกข่ายหลักที่ไปรวมเงินจากลูกข่ายคนเล่นย่อยๆอีก โดยลูกข่ายหลักด้วยเพียงสิบคนที่ทำงานให้ทุกครั้งในทุกงวดรางวัล โดยยอดรวมเงินเฉลี่ยแต่ละงวดหวยที่ได้รับจากลูกข่ายหลักพวกนี้จะได้เงินค่าหวยประมาณ 500,000 บาทต่อราย หรือเท่ากับว่า นายใจดี จะได้รับเงินจากลูกข่ายเล่นหวยโดยประมาณ 10 x 24 = 240 ครั้งเท่านั้น (ปีหนึ่งๆมันจะประกาศเลขรางวัลทั้งหมด 24 ครั้งนะบอกเอาไว้หน่อยเผื่อคนไม่รู้เข้ามาอ่าน) และยอดเงินที่ได้รับตลอดปีเท่ากับ 500,000 x 24 = 12 ล้านบาท จะเห็นได้ว่า แน่นอนว่าเงื่อนไขหนึ่งไม่ตรงอยู่แล้ว เพราะ รับเงินโอนไม่เกิน 3,000 ครั้ง และ เงื่อนไขสองมันก็ไม่ตรงอยู่ดี เพราะ แม้ว่าจะมียอดรับโอนเงินรวมทั้งปีเท่ากับ 12 ล้านบาท แต่ว่าจำนวนครั้งรับโอนเงินกลับน้อยเสียเหลือเกินคือรับโอนเงินเพียง 240 ครั้งเท่านั้นเอง (ตามเกณฑ์ต้องถึง 400 ครั้ง) ก็แปลว่านายใจดีคนนี้ที่เป็นโครตเจ้ามือหวยก็จะไม่ได้โดนธนาคารส่งชื่อไปให้กับกรมฯแต่อย่างใด

ลองเท่าสมมุติกรณีอื่นๆกันดีกว่า เพราะ ยกตัวอย่างแบบนี้มันสนุกดีครับ เช่น ถ้าหากว่าคุณเป็นร้านค้าออนไลน์ที่รับเงินโอนจากคนซื้อสินค้าของคุณเฉลี่ยวันละ 10 รายโดยยอดขายต่อรายเพียง 200 บาทโดยเฉลี่ย ลองมาดูกันดีกว่า กรณีนี้จะโดนเอาชื่อส่งไปสรรพากรหรือเปล่า ? อืม .. ถ้าหากว่ารับเงินวันละ 10 ราย แปลว่า ปีหนึ่งจะรับเงินเท่ากับ 3,650 ครั้งแปลว่า เข้าเงื่อนไขแรก โดยไม่ต้องดูยอดการโอนกันลยทีเดียว แปลว่าชื่อของแม่ค้าออนไลน์รายนี้จะได้รับการส่งชื่อไปกรมฯอย่างไม่ต้องสงสัยอะไรเลย จะได้ว่า การออกแบบเงื่อนไขนี้เพ่งเล็กพวกลูกข่ายรายเล็กรายน้อยที่กำไรต่อหน่วยไม่มาก แต่มีฐานลูกค้าที่ต้องรับโอนเยอะจะเข้าเกณฑ์แรกเอาง่ายๆกันเลยก็ว่าได้ คนพวกนี้ก็คือพวกที่รับสินค้ามาขาย ไม่ว่าจะเป็นครีมทาหน้าทาตัว หรืออาหารเสริมต่างๆนานาที่เป็นการสต้อกสินค้าด้วยตัวเองทั้งหมด และพวกที่ทำ Dropship แบบรับเงินจากลูกค้าโดยตรงก็จะเข้าเกณฑ์ได้ง่ายๆเลยเช่นเดียวกัน

แต่แม่ค้าพวกนี้มีวิธีการแก้ไม่ยากหรอก ! พวกเข้าเหล่านั้นสามารถที่จะทำการแยกบัญชีให้แตกธนาคารออกไป โดยสมมุติตามตัวอย่างที่ยกไปเมื่อตะกี้นี้ก็แค่เพียงแม่ค้าคนนี้ให้เบอร์บัญชีของธนาคาร ก. และ ธนาคาร ข. โดยครึ่งปีแรกให้ใช้ธนาคาร ก. และครึ่งปีหลังใช้ของธนาคาร ข.โดยทั้งหมดเป็นชื่อของตัวเองก็จะทำให้จำนวนครั้งรับรู้ก็จะลดลงแล้ว ลองมาคำนวณแอบคิดกันดูซิว่าวิธีการนี้จะมีผลอย่างไร … จากเดิมที่จำนวนครั้งที่ธนาคารรับรู้จาก 3,650 ครั้ง ก็จะเหลือ 1,825 ครั้งโดยประมาณ (ห่างไกลจากสามพันครั้งมากเอาการ) ทั้งสองธนาคารเลย เพราะงั้นแล้วก็ต้องไปดูเงื่อนไขที่สองแทน เพราะ มันเกิน 400 ครั้ง ก็ไปดูที่ยอด ถ้าหากว่ายอดรับโอนเฉลี่ยเท่ากับ 200 บาทตามที่ได้ตั้งตัวอย่างเอาไว้ก้เท่ากับ 365,000 บาทเท่านั้นเองก็คือน้อยกว่า 2 ล้านไปเยอะมากอีกน่ะแหละ ทำให้ทั้งธนาคาร ก. และธนาคาร ข. ไม่ต้องนำชื่อของแม่ค้าคนนี้ส่งไปสรรพากรแต่อย่างใด กลยุทธ์นี้ง่ายและให้ผลตรงไปตรงมากันเลยทีเดียว !

เพราะงั้นแล้วถ้าหากว่ายอดเงินคุณถึงเงื่อนไขสอง หรือ ยอดครั้งการรับโอนเงินถึงเงื่อนไขหนึ่ง การแตกธนาคารให้เป็น 12 ธนาคารแล้วใช้ธนาคารละเดือน ก็จะทำให้คุณสามารถรับเงินได้สูงสุดตามเงื่อนไขหนึ่งและเงื่อนไขสองในหนึ่งเดือนเท่านั้น ! ซึ่งคิดว่าถ้าหากว่า เดือนเดียวมียอดรับโอนเงิน 3,000 ครั้งหรือคิดว่าวันหนึ่ง 100 ครั้งก็ถือว่าเป็นธุรกิจที่แรงดีใช้ได้ หรือว่าถ้าหากว่า ได้รับเงินโอนวันละ 13 ครั้งและยอดเงินที่ได้รับทั้งเดือนเกิน 2 ล้านบาท นี่ก็ถือได้ว่าเป็นสุดยอดธุรกิจอยู่ดีน่ะแหละ ! ถ้าหากว่าเป็นแบบนี้เข้าระบบไปเถอะครับยังไงคุณก็ได้เงินเยอะใช้ได้แล้วล่ะนะ ไปจ่ายภาษีเป็นหน้าที่เพื่อเติบโตก้าวกระโดดได้ต่อไปจะดีกว่าครับ

มันยังมีการรับเงินผ่าน Market Place อีกต่างหากที่ทำให้จำนวนครั้งมันน้อยลงไปสุดๆ เพราะพวก MarketPlace ที่ว่าเช่นลาซาด้า เค้าก็ทำการสะสมเงินให้กับแม่ค้าแล้วโอนเงินให้กับแม่ค้าแค่เดือนละครั้งเท่านั้น เพราะงั้นแล้ว มันไม่สนใจหรอกว่ามันจะมีการซื้อย่อยน้อยครั้งแค่ไหนอย่างไร แต่คุณจะได้รับเงินเป็นงวดรวมงวดเดืยวในแต่ละเดือนเท่านั้น แล้วนี่ก็ยังไม่รวมกับการเอาชื่อพ่อแม่ลูกหลานพี่น้องที่ได้ทำการค้าขายเอาใช้แตกหน่อได้อีกน่ะครับเอาเป็นว่าผมมองการออกกฏบังคับนี้เพื่อให้แม่ค้าออนไลน์ระดับเทพเท่านั้นที่เข้าไปสู่ระบบภาษีได้จริงๆ หรือไม่ก็พวกที่เป็นเจ้ามือหวยเถื่อนที่เป็นรายย่อยและยอดสูงจริงๆก็จะเข้าลูปนี้เสียเป็นส่วนมากครับ

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *