rackmanagerpro.com

คิดว่าจะมีพฤติกรรมอะไรเปลี่ยนแปลงไปบ้างหลังยุคการระบาดโควิด 19

ด้วยสภาพการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปตอนนี้ แม้ว่าจะมียังมีการระบาดของโรคอยู่แล้ว คิดว่า โรคโควิดสิบเก้า นี้ก็น่าจะอยู่กับเราไปอีกอย่างน้อยก็น่าจะเป็นปี อย่างเลี่ยงไม่ได้ ทำให้ ผมมานั่งนึกอยู่เหมือนกันว่า เรามีความคิดอะไรที่เปลี่ยนแปลงไป เมื่อเราเป็นคนที่ได้ผ่านประสบการณ์ตรงกับ “การเกิดโรคระบาดในยุค internet แบบนี้กัน” นี่อาจจะเป็น Note ที่พิมพ์เอาไว้ในเชิงทำนายว่า พฤติกรรมบางอย่างของเรา น่าจะติดตัวเราไปแม้นว่ามันจะผ่านช่วงการระบาดของโรคโควิดนี้แล้วก็ตามที 

เราจะระวังเรื่องความสะอาดในชีวิตมากกว่าเดิม

จากเดิม เราไม่คิดหรอกว่า เราจะต้องล้างมือให้ถูกวิธี แต่ตอนนี้ ส่วนตัวแล้วผมก็เลือกที่จะล้างด้วยสบู่ แบบถูกต้องวิธีการทุกครั้ง ไม่มีครั้งไหนที่จะไม่ทำแบบนั้น เมื่อเรากลับเข้ามาบ้านจากพื้นที่ภายนอก เช่น ไปส่งพัสดุ ณ ที่ทำการไปรษณีย์หรือเคอรี่ก็ตาม หรือแม้ว่าจะเป็นการกลับมาจาก พื้นที่ห้าง supermarket ก็จะเลือกที่จะล้างมือเป็นกิจกรรมแรกก่อนทำอย่างอื่นทุกครั้ง และ การล้างมือนี้แหละ ที่คิดว่า น่าจะติดพฤติกรรมของเราไปตลอดกาลหลังจากนี้ แม้นว่า เราจะผ่านช่วงการระบาดโควิดไปแล้วก็ตามที 

นอกจากนี้ การมองเห็นโลกว่ามันไม่สะอาด จะมองด้วยสายตาที่ชัดเจนมากกว่าแต่ก่อน เราจะเริ่มมองเห็นว่า เราไม่สามารถหยิบจับวัตถุส่วนรวมได้ เมื่อไม่จำเป็น และ รู้สึกว่ามันจะเป็นเรื่องปกติต่อไป แม้นว่าจะผ่านช่วงการระบาดของโรคไปแล้วก็ตาม แต่ก่อนนั้น ถ้าหากว่า เราทำตัวรังเกียจพื้นที่สาธารณะ เราอาจจะมองตัวเราเองด้วยว่า มันเวอร์กันไปมั้ย แต่สำหรับตอนนี้ ผมถือได้ว่า มันเป็น “มาตราฐานใหม่” ในเรื่องของความสะอาดไปแล้ว คือ การเลี่ยงวัตถุสาธารณะ นั่นเอง 

ร้านอาหารจะถูกมองว่าต้องสะอาดมากกว่าเดิม

แต่ก่อนผมไม่ได้มาสังเกตหรอกว่าแม่บ้านหรือแม่ครัวร้านอาหารจะต้องใส่หน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้า เพื่อป้องกัน การกระเด็นของน้ำลายไปยังอาหารที่กำลังปรุงอยู่ แต่ … ตั้งแต่เกิดการระบาดของโรค ผมเองก็ก็เริ่มมองและกังวลใจมากว่า ร้านค้าร้านอาหารที่เราให้คนไปเลือกซื้อหาแบบดีลิเวอรี่ เขาจะใส่หน้ากากผ้าหรือหน้ากากอะไรป้องกันหรือไม่ระหว่างที่เขากำลังปรุงอาหารของเรา หรือ เดือดไปกว่านั้น ระหว่างที่เขาเอาอาหารบรรจุให้กับเรา หากว่า เขาพูดอะไรขึ้นมา แน่นอนว่า ตอนนี้ เรารู้แล้วว่า น้ำลายที่ไวรัสผสมอยู่จะกระเด็นออกมาอย่างเลี่ยงไม่ได้และ ปะปนไปกับอาหารที่ปรุงสุกแล้ว มาให้เราได้รับประทานกันด้วยความอเร็ดอร่อย ! ดังนั้นแล้ว ผมเองก็จะเริ่มมองหาร้านอาหารที่สะอาด หรือการบ่งบอกได้ว่า พนักงานร้านค้าร้านอาหารทั้งส่วนครัว และ ส่วนยกเสริฟจะต้องมีการสวมใส่หน้ากากผ้า หรือ ต้องป้องกันน้ำลายกระเด็นตอนที่มีการพูดจามากขึ้นกว่าเดิม แต่ก่อนเราอาจจะไม่ serious เรื่องอะไรแบบนี้ แต่ตอนนี้ เราไม่ได้มองเหมือนเดิมอีกต่อไปแล้ว 

มองว่าการทำงานทางไกลเป็นเรื่องที่กระทำได้ 

เพราะเราได้ผ่านการทำงานแบบ Work From Home ภาคบังคับมาแล้ว และ เราได้หากลไกและวิธีการต่างๆเพื่อให้ทำงานจากระยะทางไกลได้อย่างเห็นผล แต่แน่นอนว่า การทำงาน และ การประชุมแบบตรงหน้านั้นส่วนตัวแล้วก็ถือว่าเป็นการประชุมที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดอยู่แล้ว (ถ้าหากว่าเราไม่เอาเรื่องของการเดินทางเข้ามาประเมินด้วย) ทำให้ ผู้บริหาร หรือ กรรมการบริษัทหรือหัวหน้างาน อาจจะเริ่มมีนโยบายการทำงานจากที่บ้านได้บางส่วนและ บางตำแหน่ง และ มีการกำหนดกลไกการทำงานแบบผสมผสานระหว่างการทำงานแบบ Work From Home และ การทำงานเป็นแบบปกติเข้าด้วยกัน 

ภาคการผลิตและอุตสาหกรรมจะมองว่าคนเป็นแรงงานที่มีความเสี่ยงและติดโรคได้ง่าย 

ถ้าหากว่าเรามองว่าคนเป็นสิ่งมีชีวิตที่เกิดแก่เจ็บตายได้และ เราได้ผ่านช่วงโรคระบาดไปด้วยกัน เราจะเริ่มมองว่า การให้คนทำงานเป็นกลุ่มก้อนนั้นเป็นเรื่องที่มีความเสี่ยงต่อการทำงานและ การผลิตเอามากๆ เพราะ ถ้าหากว่ามีการติดโรค แล้ว ก็พาลทำให้คนอื่นๆติดโรคไปด้วยและ ทำให้อัตราการผลิต (ส่วนงานที่เกิดกับการใช้แรงงานทางตรง) จะทำให้มันลดลงไปด้วยเช่นเดียวกัน ซึ่งเป็นเรื่องที่ควบคุมไม่ได้ บางครั้ง ทำให้ โรงงานหรือผู้ผลิตแบบนี้ น่าจะเลือกการ outsource แรงงานแบบ พร้อมที่จะหาแรงงานใหม่เข้ามาทดแทน แม้ว่าจะมีการลางานขาดงานหรือการติดโรคก็ตาม เพื่อให้การทำงาน นั้นยังคงผลิตส่งงานออกไปได้เหมือนเป็นปกติ หรือ ถ้าหากว่าคิดไปไกลกว่านั้น ภาคการผลิตจะเลือกออกแบบการทำงานแบบไร้คนหรือทำให้คนถูกใช้งานให้น้อยลงไปอีก เพื่อจะได้ลดความเสี่ยงเหล่านี้

แนวคิดของการสร้างธุรกิจจะเปลี่ยนแปลงไป 

ธุรกิจจะเริ่มมองหาโมเดลธุรกิจใหม่ๆทุกครั้งเท่าทีจะทำได้ โดยกระจายความเสี่ยงออกไปหลากหลายอุตสาหกรรมและโมเดิลธุรกิจที่ไม่เหมือนกัน เพราะ เราจะพบได้ว่า เราไม่สามารถผูกความเป็นความตายของธุรกิจได้กับ “ประเภทของธุรกิจ” ไว้เพียงจำเพาะอุตสาหกรรมได้อีกต่อไป และ ความผันผวนของโลกนั้นมันมากกว่าเดิมเอามากๆ ทำให้ความมั่นคงของธุรกิจนั้นน้อยลงไปมากเช่นเดียวกัน เว้นแต่ว่าเป็นบริษัทหรือกลุ่มบริษัทที่ทีธุรกิจที่ครอบคลุมหลากหลายประเภทธุรกิจก็จะทำให้มีการกระจายความเสี่ยงออกไปได้มากกว่าธุรกิจที่ผูกติดกับอุตสาหกรรมจำเพาะประเภทใดประเภทหนึ่งเท่านั้น 

เริ่มมองว่าความเสี่ยงทางธุรกิจจากปัจจัยภายนอกเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ แนวคิดของหงษ์ดำ

แต่ก่อนผมมีโอกาสได้อ่านหนังสือเรื่อง Black Swan ที่แก่นของความคิดหลักคือ เราจะบอกไม่ได้หรอกว่าจักรวาลนี้ไม่มีหงษ์ดำ แต่กลับทางกัน ความเชื่อว่าจักรวาลนี้ไม่มีหงษ์ดำจะผิดไปทันทีเมื่อมีใครสักคนพบว่ามันมีหงษ์ดำอยู่จริงๆแม้เพียงตัวเดียวก็ตาม กล่าวคือ เราไม่สามารถเชื่ออะไรได้อย่างสุดใจว่าความเชื่อของเรานั้นถูกต้องแบบสมบูรณ์ไม่สามารถผิดพลาดได้ แต่กลับทางกัน ความเชื่อนั้นกลับพลิกตลาปัดจากหน้ามือเป็นหลังเท้าได้ เมื่อพบหลักฐานหรือเหตุการณ์ใดเหตุการณ์หนึ่งแล้วจริงๆนั่นเอง โดยในที่นี้ ผมจะหลายถึง “ปัจจัยภายนอกที่ควบคุมไม่ได้” ความเชื่อว่า “ดาวหางจะไม่ชนโลก” หรือ “แผ่่นดินไหวใหญ่จะไม่เกิด” มันจะถูกเชื่อได้อย่างน้อยลงไปมาก เพราะ ขนาดโรคระบาดครั้งใหญ่ที่ทุกคนคิดว่า มันจะไม่มีทางเกิด และ คิดว่าเป็นไข้หวัดธรรมดา และ ทุกคนเอาอยู่ .. มันได้เกิดขึ้นแล้ว และ เกิดขึ้นแบบที่ไม่ใช่เป็นเรื่องเล็กๆกระจอกงอกง่อยอะไรซะที่ไหนกันล่ะ มันกลับเป็นเรื่องใหญ่พลิกโลกและ คร่าชีวิตผู้คน เหมือนกับผักปลา เหมือนกับที่เกิดขึ้นในสัตว์ยังไงอย่างงั้น แม้นว่า เราจะมองตัวเองว่า เราเป็น modern world แล้วก็ตามที่ มีความก้าวหน้าทาง Technology ไปในระดับที่ เราเข้าใจอะไรได้มากกว่าแต่ก่อนมากนัก แต่เมื่อเจอกับโรคระบาด (ที่ลงตัวและทำให้เกิดการระบาดได้ด้วย condition ที่เป็นสังคมเมือง) ก็คร่าชีวิตผู้คนไปได้จำนวนมาก ราวกับว่า โรคระบาดมันออกแบบมาเพื่อล้างเผ่าพันธ์มนุษย์เลยก็ว่าได้ 

ดังนั้นแล้ว ความคิดที่ว่า “โลกจะไม่โดนอุกกาบาดชน” มันก็อาจจะไม่จริง เพราะ ถ้าหากว่ามันเกิดขึ้น ความเชื่อนั้นก็จะผิดถนัดกันไปเลยทีเดียว ดังนั้นแล้ว สำหรับธุรกิจต่างๆ หากมีแนวคิดนี้ จะเริ่มทำธุรกิจระยะที่สั้นขึ้นและกระจายความเสี่ยงมากขึ้น 

ประเทศแต่ละประเทศจะมีแนวทางที่อยากจะพึ่งพาคนในชาติให้มากกว่าเดิม

จริงๆเราคิดแบบนี้มานานแล้วแต่ก็ไม่ได้ทำกันอย่างจริงจัง เพราะ มองไม่เห็นเหตุผลว่า ทำไม เราต้องพึ่งพาคนในประเทศหรือการผลิตต่างๆในประเทศเราด้วย แต่เหตุการณ์การระบาดนี้ ทำให้ผู้นำประเทศต่างๆได้เห็นท่าแท้ว่าคนของฉันต้องมาก่อน ! ทำให้เมื่อการระบาดเลิกไป ผู้นำแต่ละประเทศจะเริ่มหันมาพัฒนาศักยภาพของบุคคลากรในประเทศให้มากขึ้น โดยเน้นไปที่ “เรื่องของสาธารณสุข” ให้มากกว่าแต่ก่อนมากๆ และ น่าจะมีการลดงบประมาณเพื่อการทหารแบบกายภาพน้อยลงแทน

มุมมองของความสุขจะเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม

เนื่องจากสังคมที่ไม่สะอาด และ การกลัวที่จะติดโรคนั้นจะยังคงฝังใจทุกๆคนที่ผ่านยุคโควิดสิบเก้านี้ไปด้วยกัน ทำให้เราเริ่มมองว่า หากเราโดนผูกติดกับความคิดที่ว่า ความสุขนั้นคือประสบการณ์ที่ต้องออกเดินทาง (ต่างประเทศ) หรือ ไปตามสถานที่ต่างๆ นั้นเป็นเรื่องที่ไม่น่าจะดีแล้ว หรือทำไม่ได้แล้ว เราก็จะเริ่มมองว่า เราจะหาสิ่งใดมาทดแทนหรือไม่ และ เรามองว่า เราจะมองตัวเองหรือทำกิจกรรมให้เกิดสุขแบบทางโลกรูปแบบใหม่ๆได้หรือไม่ ซึ่งจะต้องอยู่กับตัวเองหรืออยู่กับคนให้น้อยลงไป มันจะเริ่มเป็นสังคมที่ “ปลีกตัว” แยกออกจากสังคมหรือการสังสรรลงไปอีก

ทั้งหมดนี้เป็นความเห็นส่วนตัวจาก “กรอบความคิด” ที่ยังคงอยู่ระหว่างช่วงการระบาดของ Covid 19 อยู่ในเดือนเมษายน 2563 นี้ หวังว่า เมื่อเวลาผ่านไปประมาณ 1-2 ปี ถ้าหากว่ามีโอกาสได้กลับมาอ่านเนื้อความนี้ใหม่ แล้วลองทบทวนดูว่า ณ​ วันนั้นกับวันนี้ที่พิมพ์ ผมเองจะมีความคิดต่างไปอย่างหรือเปล่า และ มีความเห็นอะไรยังคงถูกต้อง ณ ปี 2564 กันอยู่ไว้มาดูกัน 

Exit mobile version