สำหรับบทความนี้อยากจะพิมพ์โน้ตเอาไว้ว่า ตอนนี้ผมเลือกที่จะใช้ระบบการคำนวณค่าไฟฟ้าเป็นแบบ TOU หรือ Time Of Use แทนระบบการคิดแบบเดิมที่เป็นขั้นบันไดแล้ว เพิ่งเอาเอกสารไปยื่นเงินเพื่อขอเปลี่ยนเช้านี้เอง โดยเราจะต้องเสียเงินค่าเปลี่ยนนี้ จากมิเตอร์แบบเดิมเป็นมิเตอร์สำหรับการอ่านค่าไฟฟ้าแบบ TOU เป็นเงินทั้งหมด 6,640 บาทถ้วน แปลว่า คุณเอาเงินก้อนนี้ไปพนันว่า มันจะทำให้เกิดการประหยัดคุ้มค่าที่เปลี่ยนมาใช้วิธีการคิดมิเตอร์แบบนี้แทนระบบเดิม
เงื่อนไขที่ทำให้มั่นใจว่าคุ้มค่าแน่นอนเมื่อเปลี่ยนมาใช้ระบบการคิดค่าไฟฟ้าแบบ TOU
ประเด็นสำคัญสำหรับการเปลี่ยนมาใช้ไฟฟ้าแบบ TOU นั้นก็คือ คุณกำลังควบคุมได้ว่า การใช้ไฟฟ้าส่วนใหญ่เกินกว่า 50% นั้น คุณกำลังจะใช้ไฟฟ้าหลัง 22:00 น.ของทุกวันเป็นปกติได้ และ เงื่อนไขหลักนี้ คุณสามารถทำได้ถ้าหากว่า คุณเข้าเงื่อนไขต่อไปนี้ คือ
- คุณเลือกติดตั้ง SOLAR CELL หรือแผงโซล่าที่กำลังการผลิตไฟฟ้าครอบคลุมการใช้ไฟฟ้ากลางวันเป็นส่วนใหญ่หรือเกือบทั้งหมด โดย เราแนะนำให้คุณคิดติดเพื่อให้ครอบคลุมการใช้กับเครื่องปรับอากาศเป็นหลักได้เลย เช่น ถ้าหากว่าบ้านคุณเปิดแอร์ตัวเดียว การติดตั้งโซล่าระดับ 5 KWatt นั้นถือว่าเพียงพอกับการใช้แอร์แน่นอน
- คุณมีรถไฟฟ้าและกำหนดด้วยระบบของหัวจ่ายไฟฟ้าหรือตัวรถว่าให้รับไฟฟ้าจากบ้านเมื่อ 22:00 น.ทุกวัน แทนการเสียบไฟแล้วไฟเข้าทันทีในเวลากลางวัน การที่คุณมีรถไฟฟ้าและใช้ขับมันไปประมาณ 50-100 กม.ทุกวัน (หรือมากกว่านี้ก็จะดีมาก) มันจะกินไฟฟ้าเป็นสัดส่วนมาก มากกว่าคุณเปิดแอร์ใช้ที่บ้านเยอะมาก ดังนั้นแล้ว การใช้ไฟฟ้าสำหรับรถไฟฟ้าแบบนี้ จะทำให้สิ่งนี้เป็นเครื่องใช้ไฟฟ้าส่วนใหญ่ประจำบ้านของคุณเอง และนั่นเป็นเรื่องดีที่จะทำให้คุณเลือกได้ว่า คุณจะชาร์ทไฟฟ้าตอนหลังสี่ทุ่มได้ยังไงล่ะ
- นอกจากนี้ คุณจะต้องใช้ไฟฟ้าเยอะเป็นพื้นฐาน เช่น มากกว่าเดือนละ 1,000 หน่วยเป็นต้น แบบนี้จะทำให้ค่าไฟฟ้าฐานแบบขั้นบันไดของคุณมันอยู่ชั้นบันไดค่าไฟฟ้าต่อหน่วยที่แพงมากเอาการ และ นั่นมันจะทำให้คุณเกิดแรงจูงใจทางการเงิน หรือความคุ้มค่าทางการเงินได้ เพื่อเลือกหันมาใช้ค่าคิดค่าไฟฟ้าแบบ TOU ได้ในที่สุด
หากคุณมองการประเมินค่าไฟฟ้าที่เชื่อถือได้ว่านี้ คุณจะเห็นได้ว่า หากคุณใช้ไฟฟ้าเยอะเหมือนกับผมแล้วล่ะก็ คือ มากกว่า 1,500 หน่วยต่อเดือน เช่น เดือน 08/2023 ใช้ไฟฟ้าไป 1,752 หน่วย และ เดือน 09/2023 ใช้ไฟฟ้าไป 1,666 หน่วย จะพบได้ว่า หากเราย้ายสัดส่วน ให้เป็นการใช้ไฟฟ้าหลังสี่ทุ่ม Off-peak แทนแล้วยิ่งมากก็จะทำให้เกิดการประหยัดต่อเดือนมากถึง 25% กันเลยก็ว่าได้ กล่าวคือ หากคุณจ่ายค่าไฟฟ้าเดิมประมาณ 10,000 บาท มันจะลดลงเหลือ 8,500 บาท อะไรประมาณนั้น หากคุณใช้ไฟฟ้าได้สัดส่วนของการใช้ไฟฟ้าระหว่างเวลา off-peak 90% ของการใช้ไฟฟ้าทั้งบ้านของคุณ หรือ หากคุณไม่แน่ใจ อาจจะเล็งเอาไว้ว่า คุณน่าจะประหยัดเงินได้ระดับ 15-20% หรือประมาณ 1,500 บาทถึง 2,000 บาทสำหรับยอดเงินค่าไฟฟ้าระบบเดิมก็ได้เช่นเดียวกัน โดยทำให้สัดส่วนการใช้ไฟฟ้าให้เป็นช่วง off-peak ราวๆ 70-80% น่าจะมีโอกาสสูงเอามากๆ
จากภาพด้านบนนี้เป็นกราฟแสดงการใช้ไฟฟ้า ณ เวลาใดๆ โดยเส้นแดงเป็นเส้นการใช้ไฟฟ้าจริงๆของเวลาหนึ่งๆและ สีเขียวคือ ผลผลิตของไฟฟ้าที่ได้จากหลังคาโซล่าติดที่บ้าน จะพบได้ว่า เวลากลางวัน การใช้ไฟฟ้าเมื่อมีแดด มันจะเป็นการใช้ไฟฟ้าจากโซล่าเซลล์เกือบทั้งหมดไล่ไปถึงเมื่อหมดแสง และ แน่นอนว่าหลัง 5 โมงเย็นไปถึง 21:59 น. จะเป็นการเปิดแอร์และใช้ไฟฟ้าระหว่าง ON-Peak อย่างไรก็ดี หากคุณมองเห็นเส้นแดงที่อยู่ท้ายๆที่มันพุ่งไปเยอะก็เพราะว่าเป็นการเสียบปลั้กไฟฟ้าเข้ากับรถไฟฟ้า และนั่นมันคือพลังงานไฟฟ้าส่วนใหญ่ของบ้านแทนไปแล้ว
หากคุณมองกราฟคร่าวๆจะเห็นได้ว่า พื้นที่ใต้เส้นสีแดงนั้นคือหน่วยไฟฟ้าที่ใช้ และคุณสามารถโยกเวลาเริ่มของการใช้ไฟฟ้าหนักๆที่มันแสดงในกราฟเวลา 21:00 น. ให้เป็นเวลา 22:01 น.แทนได้อยู่ดีแค่ตั้งค่าในรถไฟฟ้าของคุณเท่านั้นเอง ไฟฟ้าส่วนใหญ่มันก็จะเป็นการใช้ไฟฟ้าใน Off-peak แทนแล้ว ง่ายๆแค่นั้นเอง
อย่าลืมว่า กราฟที่มันแสดงแบบนี้เป็นกราฟที่เราเห็นและเพื่อให้เราประเมินได้ว่า วันหนึ่งๆนั้นเรามีพฤติกรรมการใช้ไฟฟ้าระหว่างช่วง ON PEAK : OFF PEAK มากน้อยแค่ไหน เพื่อให้กลับไปประเมินตัวเราเองได้ว่า เราใช้ไฟฟ้าในช่วง OFF PEAK มากกว่า 50% ของการใช้ไฟฟ้าทั้งหมดของเดือนหรือไม่ อย่างไรก็ดี จริงๆแล้ว วันเสาร์อาทิตย์ก็ถือว่าเป็นวันที่เป็นวันที่ค่าไฟฟ้าเป็นแบบ OFF PEAK ทั้งวันด้วยเลย ทำให้แม้ว่า คุณมองว่า แต่ละวันคุณใช้ไฟฟ้าไปแบบ 50:50 เหมือนกันทุกวันทั้งวันธรรมดาและวันหยุดเสาร์อาทิตย์ แท้จริงแล้วในเดือนนั้นๆ คุณจะใช้ไฟ OFF PEAK มากขึ้นเป็น 36.67 : 63.33 ต่างหาก เนื่องด้วยเหตุที่ว่าเสาร์อาทิตย์เป็นวัน OFF PEAK DAY ด้วยนั่นเอง ผมเลยทำตารางออกมาเพื่อให้คุณเห็นภาพหากว่าเอา WEEK END เข้าไปคำนวณด้วยแล้ว จะทำให้คุณใช้ไฟฟ้า OFF PEAK มากขึ้นตามตารางนี้ นอกจากนี้ ยังมีวันหยุดประจำปีที่ การไฟฟ้ากำหนดอีกว่าเป็น OFF PEAK DAY ทั้งวันเพิ่มเติมในแต่ละปีอีกต่างหากตั้งแต่ 19 วันต่อปี (ปี 2566) ถึงประมาณ 23 วันต่อปี (ปี 2565)เป็นต้น ทำให้สัดส่วนการใช้ไฟฟ้ามันจะเบ้ไปทาง OFF PEAK เพิ่มมากขึ้นถ้าหากว่าคุณใช้ไฟฟ้าด้วยสัดส่วนตามเวลาเหมือนกับวันธรรมดามันทุกวันไปเลย
สรุป: เอาเป็นว่า ถ้าหากว่าคุณใช้แผงโซล่าและใช้รถไฟฟ้าแล้วดูกราฟที่เราเห็นได้จากแอพของแผงโซล่าเซลล์ เราจะรู้พฤติกรรมการใช้ไฟฟ้าของเราจริงๆ แล้วก็ให้คุณลองกำหนดหัวชาร์ทรถไฟฟ้าให้ทำงานหลังสี่ทุ่มเท่านั้น(off peak) เราก็จะเห็นกราฟแท้จริงของเราว่ากราฟการใช้ไฟฟ้าของเรามันเป็นแบบไหนแน่ๆ แล้วดูพื้นที่ใต้กราฟด้วยสายตาเอาทุกวัน หากว่า พื้นที่ใจ้กราฟระหว่าง off peak hours ทั้งหมดเฉลี่ยทุกวันมันมากกว่า 50% จะทำให้การคิดแบบ TOU ประหยัดเงินได้มากกว่า โดยตัวอย่างที่บ้านผมเองนั้น การเปลี่ยนมาใช้มิเตอร์แบบ TOU นั้นแม้ว่าจะจ่ายเงินเพื่อขอเปลี่ยนไปหกพันกว่าบาท มันจะทำให้ผมเองประหยัดเงินได้ 15-20% ของค่าไฟฟ้าแบบเดิมๆได้ และ มันก็จะคุ้มทุนในที่สุดอยู่ดี สำหรับกรณีของผม คาดว่า 3-4 เดือนก็น่าจะคืนทุนค่าเปลี่ยนมิเตอร์เป็น TOU แล้ว
หมายเหตุ : หากคุณอยากคำนวณค่าไฟฟ้าเองด้วยตัวเลขค่าไฟฟ้าของคุณเองเข้าไปได้ที่นี่ https://tinyurl.com/ymdp6l6u