การเล่านิทานแบบปลายเปิดเหมือนกับเล่นเกมส์​จำลองสถานการณ์

ถ้าหากว่าคุณอยากจะเล่านิทาน โดยไม่ต้องมีหนังสือเพื่อสอนการตัดสินใจและ simulate สถานการณ์ให้กับลูกของคุณ ตัวคุณเองแล้วจริงๆสามารถทำตัวเป็น game engine ที่ทำหน้าที่สร้างเรื่องราวแบบสดๆกับสถานการณ์ใดๆ หรือตัวเลือกใดๆที่ลูกของคุณเลือกได้ วิธีการนี้จะทำให้หนังสือนิทานแบบ fix story นั้นเป็นอดีตไปในทันที เพราะ เด็กจะมี interection กับสถานการณ์ที่คุณเล่าแบบที่คุณยังคงควบคุมสถานการณ์ได้แบบที่คุณต้องการ เพราะ โลกในนิทานที่คุณเล่า คือ โลกที่คุณควบคุมได้โดยสมบูรณ์ สำหรับบทความนี้ถือว่าเป็นการเล่าสู่กันฟังกับการเล่านิทานปลายเปิด เพื่อให้คุณลองเอาแนวคิดนี้ไปเล่านิทานให้กับลูกของคุณกันดู ! 

การเล่านิทานปลายเปิดแนวจำลองสถานการณ์แบบเกมส์แนวทางเลือกคืออะไรกันเหรอ ?

ใช่แล้วมันเป็นสิ่งที่ผมเองก็คิดขึ้นมาเองเพื่อให้คนเล่าไม่ต้องพึ่งพาหนังสือใดๆ ก่อนนอนขณะที่ปิดไฟดับไปสนิทแล้ว คุณเองไม่สามารถหาหนังสืออะไรมาหยิบจับเล่าได้อีกแล้วเพราะแสงไฟไม่เพียงพอต่อการอ่านหรือฉายภาพให้กับลูกของคุณได้อีกต่อไป เรียกได้ว่า เป็นเรื่องเล่าในห้องมืดก็ว่าได้ การเล่านิทานปลายเปิดก็คือ การที่คุณเล่าเรื่องอะไรก็ได้แล้ว ลูกของคุณอยู่ในเหตุการณ์นิทานที่เล่านี้ อาจจะเป็นตัวของเขาเองเลย หรือ ตั้งชื่อตัวละครตัวใดตัวหนึ่งที่เป็นชื่อของลูกของคุณให้ไปโผล่อยู่ในนิทานก่อนนอนที่เล่าอยู่สดๆกันไปเลย 

ถ้าหากว่าคุณคิดไม่ออกว่าจะเริ่มต้นอย่างไรดี และ จะมีเนื้อเรื่องไปทางใด ให้คุณนึกถึงเรื่องราวของนิทานทั่วไปเป็นแก่นของโครงเรื่องก็ได้ แล้วยัดตัวละครที่เป็นชื่อของลูกคุณเข้าไปแทนตัวละครในนิทานตัวใดตัวหนึ่ง คุณสามารถเลือกให้เขาเป็นตัวเอกหรือตัวรองก็ได้ อย่างไรก็ดี หากคุณเลือกเขาเป็นตัวรอง ภาพและเนื้อเรื่องจะติดตามกับตัวรองนั้นแทนตัวหลัก ทำให้คุณอาจจะต้องใช้จินตนการเพิ่มเติมอย่างเอาเรื่องอยู่ เพื่อให้ภาพและเรื่องราวโดยรอบของตัวละครรองเหล่านั้นปรากฏเชื่อมโยงกับเนื้อเรื่องหลักได้ เช่น ถ้าหากว่าคุณคิดว่าจะใช้เรื่องหนูน้อยหมวกแดงเป็นแก่นเรื่องแต่จะเอาลูกของคุณแทนหมาป่า ก็ให้เริ่มว่าหมาป่ามีภารกิจอะไรแล้วเริ่มจากตรงนั้นได้ทันที สำหรับการเลือกตัวละครรองให้เป็นลูกของคุณนั้นถือได้ว่าเป็นการสร้างเรื่องแบบ advance ขึ้นมาอีกระดับหนึ่งแล้ว ถ้าหากว่าคุณเป็นมือใหม่หัดเล่าแล้วล่ะก็ …​แนะนำให้เริ่มจากตัวละครหลักก่อนจะดีกว่า แต่เมื่อหัดเล่าบนตัวละครหลักแล้ว ให้ย้ายไปเล่าในมุมมองของตัวละครรอง ลูกของคุณจะเห็นการดำเนินเรื่องในโลกเดียวกัน จากมุมมองของตัวละครอื่นและ นั่นมันเป็นเรื่องที่เจ๋งเอามากๆเลย ใช่แล้ว คุณจะไม่เคยเห็นว่าหมาป่าทำไมต้องมาเจอกับหนูน้อยหมวกแดง เขาจะกินคุณยายหรือเปล่าถ้าหากว่า หมาป่าเป็นลูกของคุณแทนตัวละครปกติ ถามลูกของคุณว่า เราไม่กินคุณยายได้มั้ยแล้ว ชวนหนูน้อยหมวกแดงไปปลูกผักทำฟาร์มด้วยกัน หรือ ทำฟาร์มปศุสัตว์กันเลยดีกว่า เพื่อจะได้มีกินมีใช้กันไปอย่างมีความสุข …. อะไรทำนองนี้

การเล่าในบางจังหวะ คุณสามารถสร้าง trivial choice เนื้อหาที่ไม่ได้เป็นสาระสำคัญแล้วให้เป็นตัวเลือกได้ด้วยเช่นเดียวกัน เพราะ คุณอาจจะคิดว่าไม่ว่าลูกของคุณจะเลือกทางไหนก็ตาม ผลลัพธ์มันก็เหมือนกันอยู่ดี หรือ options ที่จะให้ลูกคุณเลือกระหว่างทางในเนื้อหานิทาน อาจจะมีผลรุนแรงระดับเปลี่ยนแปลงโครงเรื่องทั้งหมดก็ได้เช่นเดียวกัน อารมณ์แบบ  Butterfly Effect แบบนั้นเลยก็ได้ เช่น ถ้าหากว่ายกตัวอย่างหนูน้อยหมวกแดงเหมือนเดิม เราอาจจะถามได้ว่า เราจะหยิบขนมอะไรเพื่อเอาไปให้คุณยายกันดีน้า … แน่นอนว่า เขาคงจะเลือกอาหารใดๆที่เขาชอบและคิดว่าสิ่งนี้น่าจะได้รับการแบ่งปันให้กับคุณยายในเรื่องด้วยเช่นเดียวกัน แต่ไม่ว่าเขาจะเลือกอะไร คุณยายก็ไม่ได้กินอยู่ดี เพราะ ไปถึงก็ไม่มีคุณยายอยู่รอแล้วยังไงล่ะ ! 

เราสามารถสร้างสถานการณ์ใดๆที่เป็นปัญหาเพื่อให้เด็กได้เข้ามาสร้างทางแก้ปัญหาได้อย่างไม่มีขีดจำกัด ! ใช่แล้วการที่เขาจะได้ทรัพยากรใดๆมาเพื่อใช้ในเรื่องอาจจะได้มาด้วยความยากลำบากไม่ได้มีจัดเอาไว้ให้ตั้งแต่ต้นก็ได้ เพื่อทำให้เกิดความยาก หรือเกิดปัญหาในการดำเนินเรื่องโดยเด็กจะต้องหาทางแก้ปัญหาเหล่านั้นด้วยคำถามปลายเปิดกัน ตัวอย่างเช่น ใช่แล้วคุณยายของเราชอบทาง chocolate cake black forest แต่ว่าที่บ้านของหนูน้อยหมวกเด็ก (ที่แทนด้วยตัวเด็กเอง) นั้นไม่มีและทำเองไม่เป็นด้วยจะทำอย่างไรดีเพื่อให้ได้ Chocolate Cake Black Forest นี้ได้กันล่ะ ? อืม …. เราอาจจะมีทางเลือกให้เขาว่า เดินทางเข้าหมู่บ้านเพื่อหาซื้อ (เหมือนกับเกมส์ RPG ปกติ) หรือ จะไปหาแป้งและเครื่องปรุงต่างๆเพื่อเอาไปว่าจ้างคนทำเบอเกอรี่กันก็ได้ หรือ จะซับซ้อนกว่านั้นคือ โลกนี้ไม่มีการว่าจ้าง เราต้องทำความดีบางอย่างให้กับคนทำขนมปังหรือคนที่ทำเค้กเป็นเพื่อที่เขาจะทำเค้กให้กับเราเป็นต้น สุดแล้วแต่จะคิดว่าอย่างงั้น

หากคุณอ่านมาถึงจุดนี้ได้แปลว่า คุณเริ่มนึกออกว่า การที่เราเล่านิทานปลายเปิดแบบจำลองสถานการณณ์นั้นเป็นเรื่องที่มีประโยชน์กับเด็ก ซึ่งมันก็เหมือนกับการเล่นเกมส์ที่เราเป็นคนกำหนดเนื้อเรื่องได้เอง ว่าจะให้มีความรุนแรงเรทใดๆ หรือจะให้มุ้งมิ้งน่ารักได้เพียงใดก็ได้ให้มันถูกจริตของคนเล่าเรื่องและคนฟังซึ่งมันจะมีประโยชน์หลายเรื่องมากในการสอนสิ่งต่างๆให้กับเด็กได้เรียนรู้

หลักการโดยสรุปของการเล่านิทานปลายเปิดแบบเกมส์แนวทางเลือก

  • เล่าสดโดยอาจจะจำลองนิทานที่คุ้นเคยเอามาเล่าให้แตกแขนงเป็นโลกคู่ขนานของนิทานเรื่องนั้นๆได้
  • เล่าโดยเอาตัวละครตัวใดตัวหนึ่งแทนชื่อด้วยชื่อลูกสาวของคุณ หรือ ทำให้ตัวลูกสาวของคุณเป็นตัวละครหนึ่งในเนื้อเรื่องนี้ก็ได้ แน่นอนว่า เขาจะต้องเป็นตัวดำเนินเรื่องหลักเพื่อให้ปรากฏในทุกฉากในของนิทานที่ดำเนินอยู่นี้
  • เล่าเป็นตอนๆไม่ต้องจบเสร็จในตัว สามารถทิ่งเรื่องให้ค้างเติ่งเอาไว้ได้เหมือนกับละครจริงๆ หรือแนวหนังที่อยู่ใน Netflix ให้เกิดความรู้สึกอยากรู้และน่าติดตาม 
  • เมื่อเกิดสถานการณ์ หรือปัญหาในเรื่อง อาจจะให้เด็กเลือกเป็นทางเลือก หรือ ให้เป็นการถามโดยตรงแบบปลายเปิดเลยก็ได้ว่าลูกของคุณในสถานการณ์นั้นจะมีวิธีการแก้ปัญหาหรือจะกระทำการแบบใดก็ให้บอกมาได้ทันที แล้วเราก็เล่าปะติดปะต่อเรื่องต่อไป

ประโยชน์ของการเล่านิทานปลายเปิด

  • คุณสามารถเล่านิทานในที่มืดโดยไม่ต้องมีหนังสือหรือภาพประกอบ ทำให้เด็กต้องใช้จินตนาการล้วนๆ จากสิ่งแวดล้อมและเรื่องราวที่เขาเคยรู้มาจากประสบการณ์จริงของเขาเอง
  • ได้ฝึกคิดและแก้ปัญหาที่ใกล้เคียงกับโลกความจริงมากที่สุด ไม่มีใครมาบอกคุณหรอกว่า ปัญหาที่คุณพบเจอมันจะต้องแก้อย่างไร และมีตัวเลือกอะไรบ้างใช่หรือเปล่าล่ะ
  • กำหนดเรื่องราวให้จบแบบไม่สวยก็ได้ เด็กจะได้รู้ว่า มันไม่ได้โลกสวยและทุกอย่างจะเป็นไปอย่างที่คิด และ ทำให้สถานการณ์นั้นดีหรือแย่ก็ได้แล้วแต่ว่าเราได้กระทำการหรือตัดสินใจอย่างไร
  • เนื้อเรื่องอยู่ในบริบทที่เด็กรู้จัก (ถ้าหากคุณอยู๋กับลูกของคุณและรู้สิ่งต่างๆรอบตัวเขา)
  • คุณสามารถยัดเยียดวิธีคิดใดๆในเรื่องราวที่คุณสร้างขึ้นได้อย่างอิสระ

ส่วนตัวแล้วคิดว่าการเล่านิทานแบบนี้ได้ อาจจะต้องอาศัยการฝึกเล่าเรื่องในระดับหนึ่ง เพราะ มันเป็นขั้นกว่า ของการเล่าจากหนังสือนิทานและเป็นการต่อยอดนิทานเหล่านั้น หรือเรื่องราวใดๆก็ได้ที่อาจจะฐานตัวละครจากเรื่องราวในนิทานทุกเรื่องราวกัน แต่การที่ทำให้เด็กสามารถเลือกกระทำการใดๆในนิทานได้จะทำให้เขากล้าเข้าเผชิญกับปัญหาและรู้จักคิดวิเคราะห์หาแนวทางแก้ปัญหาซึ่งถือได้ว่าเป็นทักษะที่สำคัญที่สุดอย่างหนึ่งสำหรับการดำรงชีวิตเลยก็ว่าได้ และ การฝึกนี้ถูกสร้างขึ้นในสถานการณ์จำลองก่อนนอนหลับฝันหวานได้ทุกคืน แน่นอนว่าเด็กจะสนุกไปกับเรื่องราวที่คุณเล่า และ ติดยังกับละครหลังข่าวกันเลยก็ว่าได้ 

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *