อยากจะ reflect ความคิดของตัวเองสั้นๆ เก็บเอาไว้ เผื่อว่าจะมีประโยชน์กับคนอื่นๆกันบ้าง ถ้าหากว่ามีคนได้อย่างเนื้อความนี้กันจริงๆก็อยากให้ comment กันไว้หน่อยก็ดีน่ะครับ
พักนี้ทำงานแล้ว จะเจอเรื่องประหลาดๆมากมายก่ายกอง แต่ทุกอย่างล้วนเป็นสิ่งที่ไม่ได้เกิดความคาดหมายแต่อย่างใด ไม่ว่าจะเป็นปัญหาที่เกิด หรือ อุปสรรคเศษเล็กเศษน้อยจะมีต้องผ่านพบ รวมทั้งเรื่องราวไร้สาระ แต่ก็เอามานั่งคิดให้ลึกเข้าไปอีกสักหน่อย ก็เลยอยากจะเขียนเอาไว้เป็นประเด็นย่อยๆ ว่า mindset หรือชุดความคิด ที่เป็นกระจกสะท้อนมุมมอง กับเรื่องต่างๆตอนนี้หน้าตาเป็นอย่างไร พิมพฺ์เก็บไว้ บรรยายไว้ ไม่เสียหาย จะได้รู้กันแน่ชัดเลยว่า ตอนนี้คิดอ่านอย่างไรอยู่ในหัวกันแน่
การวางแผนทำได้แค่เสี้ยวเดียวเท่ากันแต่ไม่ใช่ทั้งหมด
เริ่มต้นเรื่องใดๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องใหญ่หรือเรื่องเล็ก จะมีการวางแผนอยู่เสมอ แม้ว่าคุณคิดว่ามันจะไม่ได้โดนวางแผน แต่แท้ที่จริงแล้ว ในสมองของเราจะมีการลำดับ คาดหวังเหตุการณ์อยู่แล้ว ไม่ว่าเรื่องนั้นจะเล็กใช้ระยะเวลาสั้นมากๆ หรือ แม้กระทั่งเรื่องใหญ่ที่ใหญ่เกินกว่าจะทำนายผลออกมาได้เป็นรูปร่างทั้งหมด ลองคิดดูแค่ จะไปกินน้ำ เราก็มีการวางแผนในหัวแล้วว่า เราจะเดินไปกินด้วยเส้นทางใด แล้วจะเอาอะไรไปรองน้ำ จะกินมากน้อยแค่ไหน จะใช้มือไหนหยิบจับแก้วน้ำ จะกินด้วยความเร็วเท่าไหร่ และ คาดหวังผลของการกินน้ำเอาไว้ว่าอย่างไร แค่กระบวนการ “เดินไปกินน้ำ” ถือว่าเป็นกระบวนการขั้นพื้นฐานที่สุด ที่เราแทบไม่คิดว่า สมองเราได้ลำดับภาพและเหตุการณ์จากประสบการณ์ ความคิด และการตัดสินใจที่ละเอียดยิบย่อยไปแล้วทั้งหมด โดยที่ตัวเราเอง “ไม่รู้ตัว” ด้วยซ้ำ เรื่องแค่สั้นๆแค่นี้มันมีเยอะประเด็นให้คิดมากๆ แน่นอนว่า เราไม่สามารถแตกเรื่องออกมาได้ทั้งหมดด้วยสมองส่วนรู้สำนึกได้อย่างเป็นระบบ แค่เป็น complex ทางความคิดเท่านั้น
เมื่อมองกลับมาที่การทำงานใดๆ จะมีการวางแผน แม้ว่าคุณจะไม่ได้วาง แต่ถ้าหากว่าจำเป็นจะต้องบอกแจ้งให้คนอื่นเพื่อดำเนินการเป็นทิศทางเดียวกัน คุณต่างที่จะต้อง “พยายามสื่อสาร” ลำดับความคิดความอ่าน จุดตัดสินใจเล็กๆน้อยๆในภาพลำดับแผนในความคิดของคุณออกไปเพื่อให้คนอื่นเห็นภาพความคิด ลำดับเหตุการณ์และความคาดหวังของแผนการณ์นั้นๆได้อย่างเป็นทิศทางเดียวกัน และที่สำคัญ อย่าลืมว่าสิ่งที่คุณบอกกล่าวคนอื่นเป็นแค่เสี้ยวเดียวของเรา เพราะ คุณก็ไม่รู้โดยแน่แท้ในทุกๆจุดว่า เหตุการณ์ใดเป็นสิ่งคาดหวัง สิ่งที่สมมุติฐานไปแล้วโดยที่คุณไม่รู้ตัวว่าเป็นสมมุติฐาน และความสับสนทางลำดับความคิดและประสบการณ์ที่บิดเบือนออกไปจากความเป็นจริง
คนเราทำการใดๆด้วยความมั่นใจได้ กิจกรรมนั้นจะต้องเหมือนออกมาจากความคิดตัวเอง
ไม่ว่าใครก็ตามที่อยู่ในสายงาน ทั้งบนและล่างสายงาน คนที่เป็นหัวหน้าหรือคนที่เป็นลูกน้อง คุณสามารถจะ manipulate เหนือการกระทำและความคิดของคนเหล่านั้นได้ตามที่คุณต้องการถ้าหากว่าคุณทำให้คนเหล่านั้นคิดและเชื่อตามสิ่งที่คุณต้องการ ไม่ใช่ความขัดแย้งทางความคิด คนที่จะทำอย่างใดอย่างหนึ่งนั้นต้องเชื่อสนิทใจมากว่า สิ่งที่ตนกระทำนั้นเป็นสิ่งที่ถูกต้อง เป็นสิ่งที่ดีต่อคนใครก็สุดแล้วแต่ไม่ว่าจะเป็นตัวเอง หรือ คนอื่น (แล้วแต่ว่าจะให้น้ำหนักใครมากกว่ากัน ตามความคิดของตนเอง) และจะเชื่อมั่นกว่าเดิมมาก เมื่อสิ่งที่กำลังจะดำเนินการเป็นความคิดของตนเอง
แต่แท้ที่จริงแล้ว ความคิดใดๆถูกควบคุมด้วยบางสิ่งที่คุณไม่รู้ตัวแทบทั้งนั้น เช่น ถ้าหากว่าคุณจะซื้อของอะไรสักอย่าง สิ่งที่คุณจะทำคือการ review สินค้านั้นๆจากคนไม่รู้จัก ถ้าหากว่าคุณเชื่อคนไม่รู้จักแล้วก็ไปซื้อ การตัดสินใจซื้อนั้น คุณกลับคิดว่าเป็นการตัดสินใจเลือกซื้อของคุณเอง ทั้งๆที่ข้อมูลทั้งหมดไม่ได้เกิดจากตัวคุณเองแม้แต่น้อย เราจะคิดว่า เราทำการ research มาเองกับมือ (กับ keyboard มากกว่า) อ่านข้อมูล เพื่อเอาความคิด “คนอื่น” เข้าหัว และ convert เป็นข้อสรุปที่เหมือนจะเป็นความคิดตนเอง และ เมื่อคุณเชื่อความความคิดเห็นสุดท้ายนั้นเป็นของตัวเอง คุณจะเชื่อและกระทำตามมันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
กลับมาดูเรื่องการตัดสินใจในที่ทำงาน ถ้าหากแนวคิดนี้เป็นจริงอย่างที่ว่าแบบหนึ่งต่อหนึ่งตรงไปตรงมา ถ้าหากว่าเราบอกหรือยัดความคิด ความเชื่อให้กับ “คนอื่น” หรือ แม้กระทั่ง “ตัวเราเอง” ในเรื่องใดเรื่องหนึ่งได้ เราจะควบคุมคนอื่น หรือ ตนเอง ให้ดำเนินการไปในทิศทางที่ต้องการได้อย่างสมบูรณ์ ซึ่ง “คนหัวดื้อ” และอธิบายได้ดี จะมีทักษะทางด้านนี้มากเป็นพิเศษ และจะ control คนที่หัวอ่อน คนที่ชอบประนีประนอม หรือคนที่หลีกเลี่ยงความขัดแย้ง จะคล้อยตามได้อย่างไม่ยากเย็น การบอกให้คนอื่นเชื่อเป็นเรื่องง่ายขึ้นมาก ถ้าหากว่าคุณหลอกตัวเองให้เชื่อตามนั้นแล้ว (คุณต้องแทบไม่รู้ตัวด้วยซ้ำว่าคุณกำลังหลอกตัวเอง จนกว่าจะมีคนมาจี้จุดอ่อนให้เห็น)
การทำให้ตัวเองเชื่ออะไรบางอย่างนั้น บางครั้งเราไม่สามารถจะที่เออเองออเองได้ทั้งหมด เกิดความไม่แน่ใจ สิ่งที่คนเราจะทำคือ การหาข้อมูลเพิ่ม โดยบอกคนอื่นให้เชื่อตามนั้น แล้ว เมื่อเราเห็นคนอื่นเชื่อเหมือนอย่างที่ตัวเรา เรากลับเกิดความมั่นใจมากขึ้นอย่างไร้เหตุผล เพราะแท้ที่จริง ถ้าหากว่าคุณไปคุยกับคนที่ประนีประนอม ไม่อยากให้เกิดความขัดแย้ง รู้ๆอยู่ว่าคำตอบที่คุณจะได้รับ คือ การเห็นด้วยคล้อยตาม แต่ตัวคุณเองก็ยังต้องการความเชื่อมั่นในลักษณะนี้อย่างไม่เป็นเหตุเป็นผลแม้แต่น้อย เรียกได้ว่า ถามหรือประชุมทางความคิด ก็แค่เพื่อที่จะทำให้ตัวเองทำและเชื่ออย่างที่ตัวเองคิดมากขึ้นเท่านั้น
ถ้าหากว่าคุณเป็นหัวหน้ากลุ่มประชุมทีมของคุณ แล้วผลลัพธ์ของการประชุมกลับกลายเป็นเรื่องที่คุณอยากจะให้เป็นหรือความเชื่อความคิดก่อนและหลังการประชุมไม่ได้เปลี่ยนแปลงแม้แต่น้อย ระวังตัวเองไว้เลยว่า คุณก็แค่ขาดความมั่นใจต้องการความเชื่อมั่นใจลักษณะที่ได้กล่าวไปแล้ว คนประชุมด้วยหลีกเลี่ยงการปะทะทางความคิด และแน่นอนที่สุดว่า การประชุมนั้นไร้ความหมายสิ้นดี
คำถามแรงๆทำให้ได้คิดให้ครบด้าน มองในมุมที่ไม่เคยมอง
การถามแรงหมายถึงการถามอย่างไร้หน้ากากทางสังคมครอบไว้ ไร้ซึ่งการเห็นหัวระหว่างคนที่คุยด้วยกัน และอาจจะก่อให้เกิดความขัดแย้งทางความคิดได้ คำถามฟังดูตลก แต่เป็นสิ่งที่คนอื่นๆมองข้าม เป็นคำถามที่ฉุกให้คิดตีเรื่องไปรอบๆระหว่างกระบวนการปรึกษาหารือ หรือประชุมกันมากกว่าการคิดแค่เพียงลำพัง เพราะแท้ที่จริงแล้ว หากคุณคิดอยู่คนเดียว ความถามเหล่านี้จะผุดขึ้นในหัวเราและเราก็ถามตัวเราเองได้อย่างไม่ต้องลดหลั่นภาษาภายในหัวเราเองได้ แต่เมื่ออยู่ในสังคมที่คนหนึ่งๆจำเป็นต้องมีฐานะ(หรือสภาวะ)ทางสังคม จะทำให้เริ่มมีการกรองคำถามเหล่านั้นออกไป
แต่คำถามเหล่านั้นกลับมีความสำคัญมาก หากจะต้องทำอะไรที่มี work load และเวลาที่จะคนในองค์กรทั้งหมดจะต้องไปทำมัน ยกตัวอย่างเพื่อให้เห็นภาพมากขึ้นเช่น การออกแบบหรือ lunch สินค้า คำถามแรงๆ ที่จะต้องถามและตอบได้ ไม่ว่าคำตอบนั้นคือ “ไม่รู้” ก็ตามที จะมีอยู่อย่างมากมาย ไม่ว่าจะเป็น จะเอาสินค้าแบบนี้ให้ลูกค้าแล้วเค้าจะซื้อเพราะอะไร ? คุณคิดไปเองหรือเปล่าว่านี่คือสิ่งที่ลูกค้าคุณต้องการ ? ราคานี้ตั้งไปแล้วลูกค้าคุณจะดีใจจนเนื้อเต้นกระโดดซื้อเลยหรือเปล่า ? มันต่างจากสินค้าตัวเดิมๆที่ทำออกมายังไง? ถามมันต่างกันแค่นั้น ทำไมต้องมาซื้อสินค้าใหม่ของคุณ ? เป็นต้น หรือ การหาต้นเหตุของปัญหา ก็เช่น คุณแน่ใจแล้วหรือว่านี่คือตันเหตุของปัญหา ? วิธีแก้แบบนี้ฉลาดสุดๆแล้วงั้นหรือ ? มีวิธีการโง่ๆง่ายๆที่เรามองข้ามไม่ได้ใช้มันในการแก้ปัญหานี้หรือไม่ ? จะพิสูจน์ได้อย่างไรว่ามันดีขึ้น ?
ถ้าหากว่าสังเกตจากคำถามของเนื้อความย่อหน้าที่แล้ว ถ้าหากว่ามีกากกรอบสังคม ลำดับชั้นทางสังคม ขวางไว้ ทิศทางการไหลของคำถามแบบนี้จะไหลได้ทางเดียวคือ จากคนที่มีอำนาจตัดสินใจเหนือกว่า เป็นหัวหน้าหรือผู้กำกับทิศทางของเรื่อง หรือที่ประชุม เป็นผู้ยิงคำถามเท่านั้น ลองคิดดูว่าถ้าหากว่า ทีมออกแบบสินค้า เป็นคนนอกหรือ out source แล้วเราต้องจ่ายเงินเมื่อเราเอาสินค้าไปผลิตออกตลาด คำถามบอกนี้จะไหลออกมาเป็นน้ำอย่างไม่ต้องคิด แต่ถ้าหากว่า ทีมคนออกแบบสินค้ากลับเป็นกลุ่มคนที่มีอำนาจมากกว่าแล้วไซร้ คำถามเหล่านี้จะไม่ได้ผุดออกมาให้เราได้ยินกันในที่ประชุม
นั่นก็แปลว่า ถ้าหากว่าองค์กรของคุณทำเองคิดเอง แล้วเหมือนจะไม่มีคนถามคำถามเหล่านี้ คุณนั้นหละที่ต้องยิงคำถามเหล่านี้ด้วยตัวเองแทนที่จะรอให้ลูกน้อง ทีมขายที่เป็นลูกน้องอีกชุดหนึ่ง ยอมรับและพยกหัว เชื่อ คล้อยตาม และไม่คิดแย้งแต่อย่างใด แล้วเราก็จะเกิด work load ในองค์กรอย่างคาดการ “คิดรอบ” ได้อย่างไม่น่าเชื่อ
เมื่อวางแผนต้องไม่คิดว่ามันจะต้องสมบูรณ์แบบ
การวางแผนเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้อย่างเป็นธรรมชาติ แม้ตัวเราจะไม่ได้รับรู้มัน แต่เรารอความสมบูรณ์แบบไม่ได้ การวางแผนใดๆจะมีจุด optimal ของมันเองระหว่าง ความสมบูรณ์แบบ และ เวลาที่ถ้าหากว่าช้ามากๆ จะทำให้เกิดการสูญเสียโอกาสไป หรือเสียเวลา ลองคิดดูว่าหากว่าจะวางแผนให้สมบูรณ์ที่สุดเท่าที่จะทำได้ คือ การลงในทุกเม็ดรายละเอียด ถ้าหากว่าคนวางแผน และคนตัดสินใจเป็นคนละคนกัน แต่คนตัดสินใจไม่ได้สนใจ workload ของคนออกแบบวางแผนแม้แต่น้อย แต่กลับต้องการ “ความสมบูรณ์แบบของข้อมูลในการตัดสินใจ” จะเป็นการกำหนดให้ ผู้ออกแบบวางแผน ต้องทำข้อมูลออกมาได้อย่างสมบูรณ์แบบนั่นเอง แต่ประเด็นคือ ความสมบูรณ์แบบในทุกรายละเอียดของแผนการณ์นั้นกลับกลายเป็นเรื่องไร้สาระไป หากสิ่งๆนั้นมีตัวแปรใดก็ตามที่ควบคุมไม่ได้ เช่น ยอดขาย หรือทัศนคติของลูกค้าต่อสินค้า เป็นต้น
สินค้าที่ฉลาดมักจะมี beta version เป็นสินค้าเพื่อทดสอบ เรียกได้ว่า มันยังไม่สมบูรณ์แต่เหมือนว่าสมบูรณ์แล้ว ออกมาวางขาย และ จะต้องมีการปรับเปลี่ยนแนวคิด การดำเนินการ ระหว่างทาง เพราะมันจะได้ข้อมูลเพิ่ม ตามแกนเวลา และ แน่นอนว่าข้อมูลเหล่านั้น มีมูลค่ามากกว่าการคาดเดาเป็นไหนๆ และเป็นเวลาที่คุ้มค่ากว่า หากเทียบกับการวางแผนคิดเองเพื่อให้เรื่องราวนั้นสมบูรณ์แต่แรก
เพราะเมื่อเราทำอะไรก็สุดแล้วแต่ เราจะ unknown factor ออกไปเรื่อยๆ เพราะ เราจะรู้ข้อมูลแท้จริงมากขึ้นเรื่อยๆ เช่น ถ้าคุณไม่เคยวิ่งสิบกิโลเมตรมาก่อน คุณวางแผนวิ่งช้า 3 km แรก และเร็ว 2 km หลังจากนั้นวิ่งไปเรื่อยๆเท่าที่แรงจะมี และเดาต่อไปอีกว่า เร็วคือความเร็วเท่าไหร่ และช้าคือความเร็วเท่าไหร่ แล้วประมาณออกมาเป็นระยะเวลารวม แต่ถ้าหากว่าคุณมีโอกาสได้วิ่งแค่ 5 km แรกคุณมองเวลาที่คุณใช้ไปและรับรู้ถึงความเหนื่อยตอนกิโลเมตรที่ 5 คุณจะประมาณเวลาจบกิโลเมตรที่สิบได้แม่นกว่าตอนแรกมากนัก เพราะอะไรน่ะหรือ ? ก็เพราะว่า “คุณจะมีข้อมูลเพิ่มเมื่อคุณได้เริ่มลงมือทำ ทำมันบนการวางแผนที่ไม่สมบูรณ์นั่นเอง”
ไม่ใช่แค่เดาว่าลูกค้าคิดอ่านอย่างไร แต่คุณต้องคิดอย่างลูกค้า
ถ้าหากว่าคุณขายสินค้าหรือโปรโมตสินค้าหรือบริการใดๆ สิ่งที่จะทำให้คุณออกแบบวิธีการคิด การขาย ประสบการณ์ที่คาดว่าลูกค้าจะได้รับ ว่ามันดีไม่ดีอย่างไร เหมาะหรือไม่เหมาะกับลูกค้าได้ คุณจะต้องเป็นลูกค้าเองเสียก่อน ในระดับที่ “คุณมีสมองแบบเดียวกับลูกค้า” ไม่ใช่แค่คิดว่า ลูกค้าคุณ “น่าจะคิดว่าอย่างไร?” การเป็นลูกค้ากับการคาดว่าเดาว่าลูกค้าน่าจะเป็นอย่างไร นั่นสะท้อนข้อมูล มุมมอง ต่อสินค้าได้แตกต่างกันอย่างไม่น่าเชื่อ แน่นอนว่าการคาดเดาจะดีกว่าการที่ “เป็น” อยู่แล้ว แต่นั่นกลับเป็นงานของคนที่จะต้องเป็น marketer ให้กับสินค้าหรือบริการคุณจะต้องเข้าใจโดยแท้ และสิ่งที่จะต้องทำคือการวิเคราะห์ลูกค้า
ลูกค้าจะถูกระบุในระดับบุคคลว่า เค้าเป็นใครทำอะไร มีชีวิตอย่างไรเอาสินค้าไปทำอะไรและใช้มันอย่างไร ทำไมเลือกซื้อสินค้าประเภทนั้นๆ ทำการค้นหาข้อมูลอย่างไร ทีไหน เมื่อไหร่แล้ว “มีกระบวนการคิดอย่างไร” เราจะต้องพยายาม คิด และ เป็นลูกค้าให้ได้ โดยการเข้าใจและปรับเปลี่ยนความคิดตัวเราเหมือนอย่างลูกค้า และแน่นอนว่าวิธีที่ดีกว่าคือ การได้ลูกค้ามาเป็นคนนำเสนอสินค้าต่อไปอย่างไม่ต้องสงสัย
หลายๆสินค้าหรือ หลายบริการ คนที่เป็นเจ้าของกิจการนั้นๆจะเป็นลูกค้าในสายสินค้าหรือบริการนั้นๆมาก่อน และ อยากทำเอง เพราะ เค้ารู้ว่า ลูกค้าอย่างเค้าคิดอย่างไร และทำการปรับเปลี่ยนสินค้าหรือบริการที่ตัวเค้าต้องการ และคาดประมาณว่า ลูกค้าอย่างตัวเค้านั้นเป็นกลุ่มตลาดที่ทำกำไรได้จริง ไม่มีคนที่เริ่มจากไม่รู้ไม่เคยใช้สินค้าหรือบริการที่ไม่มีนัยสัมพันธ์ใดๆมาทำเองได้ หรือ มี (จริงแล้วก็มี) แต่ก็เป็นเรื่องยากขึ้นตามพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปของคนยุคใหม่ที่เอาแต่ใจรักความสบายมากกว่าเดิมมากนัก (ไม่มีแค่มีสินค้าแล้วบอกอะไรก็ได้ เหมือนสมัยโบราณที่บอกว่า ทำโรงงานผลิตสินค้าแล้วก็จะมีมาซื้อแน่นอน ทำอะไรออกมาก็ได้ คุณภาพแบบไหนก็ได้ขายได้รวยกันหมด)
การวิเคราะห์ลูกค้าเป็นศิลป์ ที่จะต้องฝึกหัด การเข้าใจลูกค้าเพื่อการตลาดนั้นจะต้องมีความคิดว่า เราจะ “เป็น” ลูกค้าอย่างน้อยที่สุดถ้าพยายามแล้ว ก็จะทำให้เข้าใจได้ถึงกึ๋นมากกว่า และนี่ก็เป็นเหตุผลของการขายของประเภท MLM หรือพวกนายหน้าเชิงกิน commission หรือ affiliate เขียน review แล้วเกิดความน่าเขื่อถือมากที่สุด เพราะเค้าเหล่านั้นเป็นคนใช้สินค้าหรือบริการเหล่านั้นและเค้าขายของให้คุณได้อย่างที่ลูกค้าต้องการ เพราะ เค้าก็เป็นลูกค้านั่นเอง
ปัญหาหรืออุปสรรคเป็นเรื่องต้องเจอ แต่ทุกอย่างมีทางออก
มีตัวแปรต้นมากมายที่ทำให้เรื่องราวไม่ได้เป็นไปตามที่คาดหวังไว้ ยิ่งเรื่องราวนั้นเกี่ยวข้องกับผู้คน และธรรมชาติด้วยแล้ว จะเป็นตัวแปรที่ควบคุมไม่ได้เข้าไปใหญ่ มีสองแนวคิดที่จะเป็นไปได้ในการจัดการเรื่อง ความไม่แน่นอนของตัวแปรต้นเหล่านี้ คือ ทำให้มันควบคุมได้ เหมือนทำเขื่อนรักษาระดับน้ำไว้ให้คงที่ หรือ ยอมรับและอยู่กับมัน เหมือนเรือที่ลอยน้ำขึ้นลงตามระดับน้ำ ประเด็นนี้จะไม่กล่าวถึงเรื่องความพยายามที่จะควบคุมมัน (ซึ่งก็มีคนเยอะคนที่เลือกทำอย่างนั้น) และจะเป็นมุมมองของการยอมรับว่าความแปรปรวนจะต้องเกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ (เพราะไม่ได้ไปควบคุมมัน)
ปัญหาเป็นผลมาจากตัวแปรต้นที่ควบคุมไม่ได้ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นเรืองที่เราไม่รู้ ปัจจัยที่อยู่นอกเหนือความคาดหมาย หรือ แค่คิดไม่ถึง ลืมพลาดเผลอไปมากมาย ยิ่งเป็นงานแบบใหม่ หรือ กิจกรรมทางการค้าแบบใหม่ๆ จะต้องเจอะเจอเพราะ เรื่องมันใหม่(สำหรับตัวเรา) ก็จะยังผ่านประสบการณ์มากน้อยกว่า ไม่รู้ว่าอะไรต้องระวังอะไรไม่ต้องระวัง อะไรต้องควบคุมป้องกัน หรืออะไรไม่ต้องไปใส่ใจ สิ่งเหล่านั้นเรียกสั้นๆมั่วเหมารวมกันไปหมดว่า “ประสบการณ์” และสิ่งนี้ถ้าหากว่าคุณทำเรื่องใหม่ๆที่ไม่เคยทำเรื่อยๆ ประสบการณ์จะเริ่มสอนคุณว่า “ปัญหาและอุปสรรคเป็นเรื่องที่จะต้องกระแทกเข้าอย่างจัง” และมันก็มีทางไปของมันแค่ออกแรงคิดและออกแรงกระทำอะไรบางอย่างไม่มากนัก (ไม่มีอะไรเหนื่อยเกินไป เหนื่อยก็พักก็เท่านั้น) มันก็จะมีการป้องกันแกะปมปัญหานั้นออกไปในท้ายที่สุดอยู่ดี